
Content by Mflex Factory
สถานที่ : RENO HOTEL, Bangkok Thailand
ออกแบบ : PHTAA living design
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : ศุภกร
RENO HOTEL
โรงแรมที่ตั้งใจส่งต่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ผ่านสัจจะวัสดุ

ที่ผ่านมาเรามักเห็นงานสถาปัตยกรรมถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในยุคใดยุคหนึ่งด้วยสไตล์การออกแบบ นั่นจึงทำให้สถาปัตยกรรม (architecture) เปรียบเสมือนกล่องบรรจุความทรงจำขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งเหตุการณ์บ้านเมือง วัสดุและสไตล์การตกแต่งในยุคสมัยนั้น ไปจนถึงความทรงจำของผู้ที่เคยเห็นหรือเคยแวะเวียนเข้ามาใช้งานสถาปัตยกรรม เช่นเดียวกันกับ RENO HOTEL โรงแรมขนาดกะทัดรัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองในเขตปทุมวัน ย่านที่ร่ำรวยไปด้วยเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่านของเมืองและศิลปะ ดังนั้นการออกแบบโรงแรมแห่งนี้จึงไม่ได้เป็นงานปรับปรุงอาคาร (renovate) เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวของการ ‘กักเก็บความทรงจำผ่านวัสดุ’ อย่างอิฐบล็อกช่องลม เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความสวยงามและเอกลักษณ์ของยุค 1960 ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว



RENO HOTEL เป็นโครงการปรับปรุงอาคารประเภทโรงแรมที่มีอายุมากกว่า 30 ปีให้กลายเป็นโรงแรมใหม่ ที่ให้มีกลิ่นอายความเป็นโมเดิร์น (modern) เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการนี้ไม่ได้หมายถึงการรื้อถอนหรือการเก็บบางส่วนแล้วสร้างใหม่เท่านั้น เพราะสถาปนิกจาก PHTAA living design ได้มองเห็นถึงเรื่องราวและความหมายของโรงแรมเดิมที่ซุกซ่อนอยู่ตามวัสดุ โดยเฉพาะ “อิฐบล็อกช่องลม “ ที่เป็นหนึ่งในตัวแทนของวัสดุในยุคก่อน ทางสถาปนิกจึงตัดสินใจเลือกองค์ประกอบนี้มาเป็นวัสดุหลักในการปรับปรุงอาคาร ผสมผสานกับอิฐบล็อกช่องลมที่สถาปนิกได้ออกแบบขึ้นมาใหม่ โดยผ่านการคิดค้นกรรมวิธีการผลิตและทดลองโดย Mflex factory จึงนำมาซึ่งผลงานที่ถูกใช้ในโรงแรมแห่งนี้เท่านั้น โดย “อิฐบล็อกช่องลม” ดังกล่าวมีความพิเศษอยู่ที่ขนาดและรูปแบบ ด้วยการเจาะเป็นรูปโค้งให้มีความลึกระหว่างหัวกับท้ายบล็อกคนละระดับกัน ทำให้เกิดมิติต่างๆ เมื่อเปลี่ยนมุมมอง เกิดเป็นเอกลักษณ์ (signature) ให้ทั้งกับโรงแรมและสร้างความประทับใจให้แขกที่เข้าพักอีกด้วย


นอกจากนั้นทางสถาปนิกยังต้องการสื่อคุณค่าของความงามผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างที่ว่าง (space) ผ่านการผสมสี เพื่อให้ผู้ใช้งานพื้นที่ได้มีโอกาสรับรู้ถึงความงามอันตรงไปตรงมา เกิดเป็นประสบการณ์การรับรู้ความหมายของงานสถาปัตยกรรมของโรงแรมแห่งนี้ผ่านรูปแบบการใช้งาน (function) และสัจจะวัสดุ (raw materials) อย่างไม่มีที่ไหนมอบให้ได้



ไม่เพียงด้านงานสถาปัตยกรรมที่ตั้งใจจะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวัสดุเท่านั้น สถาปนิกยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับการออกแบบพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโรงแรมเพื่อสร้างความหลากหลายมากขึ้น อย่าง ร้านสารัตถะ (Saratta) select shop ที่เลือกสรรค์งานศิลปะหลากหลายประเภทมาให้เลือกซื้อ หรือจะเป็นร้าน Reno Espresso Bar คาเฟ่ที่เชื่อมต่อไปยังร้านอาหารและบาร์ของโรงแรมที่เปิดให้บริการทั้งแขกของโรงแรมเองและบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังมีห้องประชุมที่เพิ่มเข้ามาเพื่อรองรับลูกค้าได้หลากหลายมายิ่งขึ้น แต่นอกเหนือจากพื้นที่ใช้งานที่เพิ่มเข้ามาแล้ว ความน่าสนใจของพื้นที่นั้นกลับกลายเป็นเรื่องของการเรียงร้อยกิจกรรมเข้าด้วยกัน โดยที่สถาปนิกจงใจค่อยๆ เปิดประสบการณ์ไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ อย่างตั้งใจ ตั้งแต่หน้าโรงแรม ผ่านคาเฟ่ ทะลุร้านอาหารจนสุดท้ายไปจบที่ surprise space ซึ่งก็คือสระว่ายน้ำใจกลางโรงแรมที่ถูกโอบล้อมด้วยอาคารคอนกรีตที่ถูกประกอบขึ้นจาก อิฐบล็อกช่องลมเดิมกับอิฐบล็อกช่องลมใหม่ ที่ดูราวกับถูกถักทอขึ้นเพื่อปิดล้อมพื้นที่อย่างมีนัยยะ อีกทั้งน้ำสีฟ้าสะอาดตาในสระว่ายน้ำที่ตัดกับสีเทาของคอนกรีตก็สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ในการใช้พื้นที่แห่งนี้ ช่วยดึงให้ภาพรวมของโรงแรมรู้สึกผ่อนคลายและเหมาะสำหรับการพักผ่อนมากขึ้นไปอีกระดับ

นอกจากการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว PHTAA living design ยังรับหน้าที่ออกแบบภายในด้วย ซึ่งแนวความคิดที่ต้องการส่งต่อความหมายของโรงแรมผ่านวัสดุ บริเวณส่วนต้อนรับจึงคงไว้ด้วยพื้นหินอ่อนเดิมเอาไว้ และสร้างความน่าสนใจให้กับฝ้าเพดานในลักษณะการสะท้อน (reflex celling) ด้วยการกรุ mirror acrylic ทำให้เมื่อมองขึ้นไปจะดูคล้ายกับภาพศิลปะนามธรรม (abstract) สะท้อนบรรยากาศภายในส่วนต้อนรับของโรงแรมให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

สำหรับในห้องพักเองสถาปนิกยังใช้ประโยชน์จาก “อิฐบล็อกช่องลม” ที่ออกแบบขึ้นใหม่ในเรื่องของการสร้างบรรยากาศที่มาพร้อมกับการช่วยบังสายไฟจากนอกโครงการ ในยามกลางวันแสงที่ลอดผ่านเข้ามาจะดูคล้ายเสี้ยวของพระจันทร์ในขนาดที่แตกต่างกันไปเป็นอีกลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับแขกที่เข้ามาพัก นอกจากนั้นยังได้บิดแกนหน้าต่างของห้องพักที่ใช้บล็อกช่องลมเดิมของอาคาร ด้วยการออกแบบภายใต้แนวความคิด ‘ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนและถ้าเราได้นั่งอยู่ริมระเบียงในขณะที่เรานั่งอยู่ในห้องแอร์มันก็น่าจะดี’ สถาปนิกจึงบิดหน้าต่างที่อยู่ติดกับประตูระเบียงให้เป็นแกนเข้ามา 30 องศา เพื่อให้พื้นที่ระเบียงถูกแบ่งเข้ามาในห้องพัก สร้างความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ระเบียง แต่ความเป็นจริงแล้วยังอยู่ในห้องแอร์ อีกทั้งด้วยการบิดแกนหน้าต่างนี้ ยังช่วยให้ห้องดูไม่อึดอัดทั้งที่พื้นที่อาจจะแคบลง แต่จะรู้สึกว่าห้องนี้โปร่งมากยิ่งขึ้น


RENO HOTEL เป็นอีกโครงการที่เลือกที่จะคงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมเอาไว้ โดยหยิบยกวัสดุที่ยังมีคุณค่าและถ่ายทอดความหมายได้ในอนาคตมาเป็น ‘สื่อ’ ที่เชื่อมยุคสมัยเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เปลี่ยนสไตล์ที่ถูกจำกัดด้วยช่วงเวลาให้กลายเป็น ‘สถาปัตยกรรมที่ Timeless และเหมาะกับผู้ใช้งานทุกคนได้อย่างยั่งยืน’
ข้อมูลโครงการ RENO HOTEL
- ชื่อโครงการ: RENO HOTEL
- ผู้ออกแบบ: PHTAA living design
- ระยะเวลาออกแบบและก่อสร้าง: ประมาณ 3 ปี
- จุดเด่นของงานออกแบบภายใน: การตกแต่งบริเวณโถงต้อนรับให้กลายเป็นกึ่งแกลลอรี่
- จุดเด่นของงานสถาปัตยกรรม: บริเวณ façade หน้าโครงการและบริเวณสระว่ายน้ำ
- ผลิตภัณฑ์ Mflex Factory : อิฐบล็อกคอนกรีตลายสั่งผลิตตามแบบ
- บริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์ Mflex Factory : ผนังอาคารและบริเวณสระว่ายน้ำ
- รู้จัก Mflex Factory : การแนะนำจาก คุณเสก SAR
- เหตุผลที่เลือกใช้อิฐบล็อกช่องลม: ต้องการสร้างความต่อเนื่องและรักษาเอกลักษณ์ของอาคารเดิมก่อนรีโนเวทที่มีการใช้อิฐบล็อกช่องลมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้รีโนเวทจึงเลือกใช้อิฐบล็อกช่องลมมาเป็นวัสดุหลักเช่นเดิม
- ข้อมูลทั่วไป
RENO HOTEL เป็นโครงการรีโนเวทโรงแรมเก่าที่มีอายุมากกว่า 30 ปีให้กลายเป็นโรงแรมใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยสถาปนิกเลือกที่จะเก็บเอกลักษณ์เดิมของโรงแรมที่มีการใช้อิฐบล็อกช่องลมเอาไว้ และเพิ่มเอกลักษณ์และภาพจำใหม่ให้กับโรงแรมด้วยการเลือกใช้ “อิฐบล็อกช่องลม” ลายสั่งผลิตตามแบบจาก Mflex Factory ซึ่งนอกจากเรื่องงานสถาปัตยกรรมแล้ว ทางสถาปนิกยังเพิ่มฟังก์ชันอย่างร้านจำหน่ายงานศิลปะ คาเฟ่ ร้านอาหารและบาร์ เข้ามาดึงดูดกลุ่มลูกค้าอื่นๆ เพิ่มเติม และได้นิยาม RENO HOTEL ให้เป็นซิตี้โฮเทลในลักษณะ ‘Gallery Hotel’
- เพิ่มเติม
ก่อนที่อิฐบล็อกช่องลมจาก Mflex Factory จะขึ้นไปอยู่บน Façade ของโรงแรมนั้นเคยถูกนำมาจัดนิทรรศการมาก่อน โดยจัดเป็น Exhibition ช่วง Bangkok Design Week 2019 ชื่อ Modern love Reno Hotel ด้วยความตั้งใจที่ต้องการจะใช้บล็อกช่องลมถึง 2 ครั้งในการทำงาน เนื่องจากสถาปนิกรู้สึกว่าหน้าที่ของวัสดุน่าจะมีคุณค่ามากกว่านั้น จึงนำอิฐบล็อกช่องลมมาทำเป็นนิทรรศการ แล้วพอนิทรรศการจบก็ตั้งใจจะยกขึ้นไปติดตั้งบน Façade โรงแรม (ถึงสุดท้ายจะเปลี่ยนมาใช้โฟมแทนเนื่องโครงสร้างอาคารเดิมไม่สามารถรับน้ำหนักได้ก็ตาม)
บทความและภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท เอ็มเฟลกซ์ แฟคทอรี จำกัด
Copyright © mflex factory co.,ltd