MAID HOUSE

Content by Mflex Factory

สถานที่:                  Maid House (Vibhavadi41), Bangkok Thailand 

ออกแบบ:               PVWB Studio

เรื่อง:                       ektida n.

ภาพ:                       ศุภกร

Maid House

เมื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างสรรค์ได้ด้วยงานสถาปัตยกรรม

หากเราให้คุณลองนึกภาพถึง ‘Maid House’ ภาพแรกที่คุณนึกถึงนั้นเป็นอย่างไร

.

.

.

และไม่ว่าคุณจะนึกภาพเป็นแบบไหน เราเชื่อว่า ‘Maid House’ แห่งนี้จะไม่เหมือนแบบที่คิดไว้อย่างแน่นอน

โครงการออกแบบและก่อสร้าง Maid House (Vibhavadi41) เป็นโครงการสร้างที่พักอาศัยสำหรับแม่บ้านและคนงานที่สร้างอยู่ในบริเวณเดียวกันกับบ้านหลังใหญ่ของเจ้าของบ้าน ซึ่งแต่เดิมจะเป็นการงานปรับปรุงอาคาร (renovate) จากบ้านเก่าที่ซื้อมาพร้อมที่ดิน แต่เมื่อลองใส่ขนาดพื้นที่ใช้งาน (function) ลงไปก็พบว่าบ้านเก่านั้นไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ รวมถึงงบประมาณในการปรับปรุงอาคารที่ประเมินนั้นค่อนข้างสูง สุดท้ายแล้วจึงลงตัวที่การรื้อและสร้างใหม่ทั้งหลัง โดยใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างเพียง 4 เดือน ก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กทั้งหลังเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและให้สามารถเข้าอยู่อาศัยได้อย่างเร็วที่สุดนั่นเอง

Maid House หรือ บ้านพักพนักงาน ออกแบบโดย PVWB Studio ซึ่งสถาปนิกที่ได้ออกแบบบ้านหลังใหญ่ในพื้นที่เดียวกัน ตัวบ้านพักพนักงานมีความสูง 2 ชั้นประกอบด้วย 5 ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักรีด พื้นที่ซักล้างและใต้ถุนในแบบบ้านเรือนไทย โดยแต่ละชั้นมีความสูงจากพื้นถึงฝ้า (floor to ceiling) 2.60 ม. และมีพื้นที่ใช้งานรวมกันถึง 210 ตร.ม. ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ไม่น้อยสำหรับบ้านพักพนักงานที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งการออกแบบขนาดพื้นที่ดังกล่าวนั้นเกิดจากความตั้งใจที่ทางเจ้าของบ้านต้องการให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นบ้านของพวกเขาจริงๆ เพราะเมื่อพนักงานมีความสุขแล้ว ความสุขนั้นก็จะถูกส่งต่อมายังเจ้าของบ้าน และจากจุดนี้เองที่ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับสถาปนิกเพื่อที่จะนำมาพัฒนาการออกแบบให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องของการใช้งานและการสร้างความสุขทางด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน

เมื่อบ้านพักพนักงานไม่ใช่แค่ที่พื้นที่สำหรับการพักคอยให้เวลาผ่านไปแต่ละวัน แต่ที่นี่ได้กลายเป็น ‘บ้าน’ ที่แท้จริงสำหรับการอยู่อาศัย ประเด็นสำคัญดังกล่าวจึงทำให้สถาปนิกเริ่มออกแบบด้วยการกำหนดให้ ‘form follows function’ ทางสถาปัตยกรรม เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางในการออกแบบไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ทั้งพื้นที่ใช้งาน รูปลักษณ์อาคาร การสร้างความเป็นส่วนตัวและสภาวะสบาย (comfort zone) ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต รวมไปถึงความต้องการในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้ใช้งานพื้นที่ไปในเวลาเดียวกัน การจัดวางพื้นที่ใช้งานในทุกๆ ส่วนจึงถูกวางไปตามเกณฑ์ในการออกแบบอย่างใส่ใจ ด้วยการวางตำแหน่งพื้นที่ส่วนกลางไว้บริเวณชั้น 1 โดยมีส่วนซักล้างอยู่ด้านหลังบ้านซึ่งเป็นทิศตะวันตก ส่วนชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับห้องพักที่ถูกออกแบบให้มีการเข้าถึงพื้นที่ในรูปแบบการสัญจรทางเดียว (single corridor) โดยในบริเวณนี้ทั้งหมดมีลักษณะเป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่ง (semi outdoor) และมีเปลือกอาคาร (façade) มาช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว รวมถึงยังทำหน้าที่ในการดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ช่วยให้อาคารเย็นสบายตลอดทั้งวัน

สำหรับ façade ขนาดใหญ่ที่ก่อตลอดแนวอาคารนั้น สถาปนิกตั้งใจเลือกใช้วัสดุที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างบล็อกช่องลมมาสร้างลักษณะเฉพาะ (feature) ให้กับตัวอาคาร ด้วยการวางตำแหน่งของ façade เอาไว้หน้าทางสัญจร โดยเลือกใช้บล็อกช่องลมรุ่นหน้าใหญ่หลังเล็กซึ่งเป็นลวดลายที่ออกแบบโดย Mflex Factory ที่มีลักษณะพิเศษในการสร้างมิติของแสงเงาได้หลากหลายด้วยการจัดเรียงบล็อกช่องลมในรูปแบบใหม่ ทำให้แสงและเงาที่ลอดผ่านช่องลมจะเกิดเป็นรูปแบบที่สวยงามและสร้างมิติให้กับผนังอาคารตลอดทั้งวัน นอกจากในของเรื่องการใช้งานแล้ว บล็อกช่องลมรุ่นดังกล่าวยังทำหน้าหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ให้ลมและแสงธรรมชาติเข้ามายังอาคารได้อย่างเต็มที่ตามความตั้งใจที่จะทำให้บ้านหลังนี้อยู่สบาย แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยพรางสายตาไม่ให้เจ้าของบ้านมองเห็นการใช้งานภายในอาคาร ซึ่งในมุมมองกลับกันก็ช่วยพรางไม่ให้พนักงานสามารถมองเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้านได้ ทำให้ต่างฝ่ายต่างสบายใจในการใช้พื้นที่ได้ตลอดทุกช่วงเวลา

นอกจากเรื่องของประโยชน์ใช้สอยทางด้านสถาปัตยกรรมที่นำบล็อกช่องลมมาเป็นหัวใจหลักแล้ว เรื่องของความสวยงามก็เป็นเรื่องที่สถาปนิกให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยความที่สถาปนิกต้องการให้บ้านพักพนักงานนั้นดูกลมกลืนกับบ้านหลังใหญ่ จึงเลือกใช้สีขาวเป็นสีหลักเพื่อสร้างความรู้สึกต่อเนื่อง (relate) ระหว่างบ้านหลังใหญ่กับบ้านพักพนักงาน ในขั้นตอนการก่อสร้างจึงนำบล็อกช่องลมมาขัดสกิมโค้ทและทาด้วยสีขาวทีละก้อนเพื่อให้งานนั้นออกมาเรียบร้อยที่สุด โดยเหตุผลในการเลือกทาสีแทนการพ่นสีนั้นคือเพื่อป้องกันการรบกวนเพื่อนบ้านจากเรื่องกลิ่นที่ฟุ้งกระจายมากกว่าการทาสีนั่นเอง

สำหรับในขั้นตอนการก่อสร้าง façade จากบล็อกช่องลมนั้นสถาปนิกใช้วิธีการก่อจากแถวล่างขึ้นไปชั้นบน โดยก่อจากด้านซ้ายไปขวาและใช้เหล็กเสียบยึดระหว่างรอยต่อเพื่อความแข็งแรง และออกแบบแพทเทิร์นขึ้นมาใหม่ด้วยการเรียงอิฐ 12 ก้อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปแบบการก่อที่เหมือนกันในทุกระยะ (modular) เพื่อความสะดวกต่อการทำงานของช่างหน้างาน อีกทั้งการออกแบบแพทเทิร์นในลักษณะนี้ยังสามารถก่อลงตัวในทุกๆ ช่วงของระยะห่างระหว่างเสา (column-span) จึงทำให้สามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและลดปัญหาการเหลือเศษวัสดุหน้างาน ส่งผลให้ช่วยประหยัดงบประมาณได้เป็นอย่างดี

แม้ว่า ‘Maid House’ จะถูกออกแบบและก่อสร้างโดยใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่ระยะเวลาไม่ใช่ข้อจำกัดสำหรับการสร้างความสุขทั้งสำหรับตัวสถาปนิกเองและพนักงานที่อยู่อาศัยแม้แต่น้อย

“ถ้าให้พูดถึงความสุข ก็คงเป็นเรื่องของการออกแบบทั้งหมดของ Maid House เพราะทุกขั้นตอนที่ได้ลงมือทำ ตั้งแต่การคิด การออกแบบ การเขียนแบบก่อสร้าง การเลือกวัสดุไปจนถึงการได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของบ้าน ทุกอย่างมันลื่นไหลไม่มีอะไรติดขัดเลย แต่ถ้าจะเจาะจงไปถึงความสุขอีกขั้น ขอเป็นตอนที่แม่บ้านและพนักงานเข้ามาอยู่ตอนสร้างเสร็จครับ เรารู้สึกดีที่เห็นเขาอยู่ที่นี่แล้วมีความสุข เห็นเขาใช้ชีวิตที่ดีขึ้นในมิติต่างๆ ที่เกิดงานออกแบบสถาปัตยกรรม โดยที่เขาใช้ชีวิตตามรูปแบบที่บ้านเป็นบ้านจริงๆ ไม่ใช่แค่อยู่เพราะต้องอยู่ เราว่าจุดนี้แหละที่เป็นความสุขที่แท้จริงที่เราได้รับ” PVWB Studio กล่าวปิดท้าย

ข้อมูลโครงการ

  • ชื่อโครงการ: Maid House (Vibhavadi41)
  • ผู้ออกแบบ: PVWB Studio
  • ระยะเวลาออกแบบและก่อสร้าง: ประมาณ 4 เดือน
  • จุดเด่นของงานออกแบบภายใน: บริเวณ façade หน้าอาคาร
  • จุดเด่นของงานสถาปัตยกรรม: บริเวณ façade หน้าโครงการใช้วัสดุเป็นบล็อกช่องลมเพื่อพรางสายตาแต่ในขณะเดียวกันก็เพื่อดึงประโยชน์จากแสงและลมธรรมชาติให้เข้าอาคารได้สูงสุด
  • ผลิตภัณฑ์ Mflex: บล็อกช่องลมคอนกรีตรุ่นหน้าใหญ่หลังเล็ก
  • บริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์ Mflex: façade หน้าโครงการและผนังชานพักบันได
  • รู้จัก Mflex: ผู้รับเหมาโครงการแนะนำ

ข้อมูลทั่วไป

Maid House (Vibhavadi41) เป็นโครงการออกแบบและก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับแม่บ้านและคนสวน สร้างอยู่ในบริเวณรั้วเดียวกันกับบ้านหลังใหญ่ของเจ้าของบ้าน ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างเพียง 4 เดือนเท่านั้น โดยความพิเศษอยู่ที่การที่เจ้าของบ้านต้องการให้บ้านหลังนี้สร้างความรู้สึกว่าเป็นบ้านที่แท้จริงของเหล่าแม่บ้านด้วยแนวความคิดที่ว่า ‘เมื่อเขาเหล่านั้นมีความสุขขณะพักผ่อนและรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านของเขาจริงๆ เขาจะได้ส่งต่อความรู้สึกนั้นให้เรา อยากดูแลเราเช่นเดียวกัน’ การออกแบบจึงเน้นให้งานสถาปัตยกรรมเป็นตัวกำหนดและสร้างพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความสุขและสามารถใช้งานพื้นที่แต่ละส่วนได้เต็มศักยภาพ

บทความและภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท เอ็มเฟลกซ์ แฟคทอรี จำกัด

Copyright © mflex factory co.,ltd

Published by mflexfactory

'mflex factory' โรงงานและ gallery เล็กๆ สำหรับการทดลอง และนำเสนอผลิตภัณท์ในการตกแต่งบ้าน-สวน ด้วยตัวคุณเอง

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s